ประวัติโรงเรียน

             ความเป็นมาโดยย่อของโรงเรียน คือ พระครูปลัดบุญมี (พระครูโพธิสารประสาธน์) เจ้าอาวาสวัดโพธิสัมพันธ์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวอำเภอบางละมุงและชุมชนใกล้เคียง เมื่อต้นปีการศึกษา2502 ได้เป็นผู้นำ ในการจัดสร้างอาคารเรียนโรงเรียนประชาบาลวัดโพธิสัมพันธ์ขึ้น ภายในบริเวณวัดด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ โดยได้รับเงินบริจาคจากผู้ที่เคารพนับถือจำนวน 90,000 บาท สมทบกับเงินที่สภาจังหวัดชลบุรีอนุมัติจำนวน 170,000 บาท ซึ่งท่านทราบว่าชาวอำเภอบางละมุงต้องการให้มีโรงเรียนที่เปิดสอนถึงมัธยมปีที่ 6 เพราะขณะนั้นยังไม่มี ท่านจึงดำเนินการขอให้ทางราชการอนุมัติให้เปิดเป็นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอขึ้น ต่อมากระทรวงศึกษาธิการจึงอนุมัติตามคำขอ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ม.ล. ปิ่น มาลากุล มาเป็นประธานพิธีเปิด เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2503 และให้ชื่อว่า “ โรงเรียนโพธิสัมพันธ์พิทยาคาร ”

             โรงเรียนเปิดทำการสอนมีนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 4 จำนวน 40 คน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2503 เป็นรุ่นแรก โดยใช้อาคารเรียนของโรงเรียนประชาบาลวัดโพธิสัมพันธ์เป็นสถานที่เรียน มีครูทำการสอน 2 คน คือ นายชะลอ ฉายวิโรจน์ ครูจากโรงเรียนบ้านบึง “ อุตสาหกรรมนุเคราะห์ ” ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และนางทองม้วน ฉายวิโรจน์
ในปีต่อมา ทางราชการได้แต่งตั้งครูมาเพิ่มอีก 3 คน คือ นายชุมพล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา นายพยุงศักดิ์ อินทนิล และนายวินัย ยิ้มงาม

  •           ในปีพ.ศ. 2512 ครูใหญ่ได้ถึงแก่กรรมลง จึงแต่งตั้งให้นายชุมพล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา รักษาการครูใหญ่ และดำรงตำแหน่งครูใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513
  •           ในปีพ.ศ. 2513 โรงเรียนมีห้องเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 7 ห้อง และได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียน แบบ 212 จำนวน 6 ห้องเรียน โดยสร้างในที่ดินแปลงใหม่ เนื้อที่ 16 ไร่เศษ อยู่ทางด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ โดยที่ดินแปลงนี้พระครูปลัดบุญมีได้จัดซื้อให้ โรงเรียนเจริญขึ้นมาเป็นลำดับในทุกด้าน ทั้งจำนวนนักเรียน ครู และการเรียนการสอน โดยได้รับการสนับสนุนจากทางราชการและประชาชนในท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอ คหบดีหลายท่านในอำเภอบางละมุงได้ให้ความช่วยเหลือ เช่นคุณอุทัย เสมรสุต เจ้าของบริษัทไฟฟ้าบางละมุงได้ให้การสนับสนุนด้านการเงิน และอื่น ๆ แก่โรงเรียน
  •           ในปี พ.ศ. 2517 โรงเรียนได้เข้าร่วมในโครงการ ค.ม.ภ. รุ่นที่ 10 และในปีการศึกษา 2518 ได้อาคารเรียน แบบ 216 ก. จำนวน 1 หลัง จึงย้ายมาทำการเรียนการสอนทั้งหมด ณ ที่ดินแปลงใหม่นี้และคืนอาคารที่ใช้เรียนเริ่มแรกให้กับโรงเรียนประชาบาลเดิม
  •           ในปี พ.ศ. 2519 ได้อาคารหอประชุม-โรงอาหารและที่ดินอีกจำนวนหนึ่ง พอปี พ.ศ 2520 ก็ได้อาคารเรียน แบบ 216 ก. จำนวน ½ หลัง ในปีนี้โรงเรียนได้เปิดทำการสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ( ม.ศ. 4-5 ) ขึ้นเป็นปีแรก และได้อาคารเพิ่มอีกจำนวน ½ หลัง
  •           ในปี พ.ศ. 2522 จำนวนนักเรียนและครูของโรงเรียนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และได้รับอาคารเรียน อาคารโรงฝึกงานอาคารเอนกประสงค์ พร้อมซื้อที่ดินรวมเป็นผืนเดียวทั้งหมดบนเนื้อที่ 29 ไร่ 9 ตารางวา จนมีจำนวนนักเรียน 2,000 คน และครู 120 คน ดังนั้นในปีการศึกษา 2534 จึงส่งโรงเรียนเข้าประกวดรางวัลพระราชทาน ประเภทโรงเรียนดีเด่น ขนาดใหญ่ และได้รับรางวัลในปี พ.ศ.2535 อันเป็นเกียรติประวัติที่สูงส่ง
  •           ในปี พ.ศ. 2537 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบพิเศษ 6 ชั้น ซึ่งเป็นหลังแรกของประเทศไทย และ ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2539 และใช้ชื่ออาคารว่า “ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ” และได้พัฒนาห้องโสตทัศศึกษาให้มีความสามารถในการจัดประชุมรับคนได้ประมาณ 1,000 คน ซึ่งเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่บนชั้น 2 ของอาคารเฉลิมพระเกียรติด้วย
  •           ในปี พ.ศ.2542 ได้สร้างหอพระประจำโรงเรียนขึ้นทดแทนหอพระปาลกะวงศ์ที่ชำรุดทรุดโทรม และตั้งชื่อว่า หอพระพุทธโพธิโฆษิตมงคล ออกแบบก่อสร้างโดยอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร และอาจารย์บัญชา ชุ่มเกสร จากมหาวิทยาลัยศิลปากร โรงเรียนได้นิมนต์พระครูวิมลธรรมกิจมาวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2542 และก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ใช้งบบริจาคจำนวนทั้งสิ้น 650,000 บาท
  •           ในปี พ.ศ.2548 โรงเรียนได้สร้างศาลาประกอบพิธีข้างเสาธง จำนวน 2 หลัง ในวาระที่โรงเรียนมาอายุครบ 45 ปี โดยใช้งบบริจาคจำนวน 1,177,797 บาท และก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2549
  •           ในปี พ.ศ.2549 โรงเรียนได้ขยายศูนย์การเรียนคอมพิวเตอร์ให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียนในอัตราส่วน 1 คน ต่อ 1 เครื่อง จนครบ 4 ห้อง ๆ ละ 50 เครื่อง และพัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์ชั้นล่างอาคาร 4 จนเสร็จสมบูรณ์สามารถใช้ในการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี
  •           ในปี พ.ศ.2550 โรงเรียนได้ขยายห้องค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ตเพิ่มเป็น 3 ศูนย์ คือ ห้องอินเตอร์เน็ตเดิมมีคอมพิวเตอร์จำนวน 35 เครื่อง ศูนย์อินเตอร์เน็ตที่ห้องแนะแนว จำนวน 20 เครื่อง และศูนย์อินเตอร์เน็ตที่ห้องสมุด จำนวน 10 เครื่อง และได้ขยายและพัฒนาปรับปรุงถนนและทางเดินเท้าหน้าอาคาร 1 และอาคาร 2 ตลอดทั้งปรับปรุงการปูอิฐตัวหนอนใหม่บริเวณลานกระท้อน ริมถนนหน้าอาคาร 1 และบริเวณสวนป่ากมลานนท์ ทำให้บริเวณโรงเรียนเป็นระเบียบและสะอาดมากขึ้น
  •           ในปี พ.ศ.2551 โรงเรียนได้รับการประเมินภายนอกรอบ 2 และผ่านเกณฑ์การประเมินโดยคะแนนเฉลี่ยระดับ “ดีมาก” แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการและแผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2550-2552) ได้เป็นอย่างดี
  •           ในปี พ.ศ.2553 โรงเรียนเข้าสู่โครงการระดับประเทศ 2 โครงการ คือ โรงเรียนที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาในส่วนภุมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Education Hub) และโรงเรียนมาตรฐานสากล (World-Class Standard School) ทั้งนี้โรงเรียนได้เปิดห้องเรียนระดับ ม. 1 จำนวน 1 ห้องเรียน และระดับ ม.4 จำนวน 2 ห้องเรียนเพื่อเปิดสอนภาคภาษาอังกฤษ ตามโครงการ Education Hub มีนักเรียน ม. 1 จำนวน 27 คน และระดับ ม.4 จำนวน 50 คน นอกจากนี้ยังได้จัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษในระดับ ม. 1 จำนวน 2 ห้อง และระดับ ม.4 จำนวน 2 ห้อง